Tuesday, November 20, 2012

Fundamental Analysis ไม่ยากอย่างที่คิด

ในวงการหุ้นบ้านเรา นักลงทุนมักจะถูกจัดเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ

1. กลุ่ม Value Investor เรียกย่อๆ ว่า VI นักลงทุนในกลุ่มนี้มักจะใช้การประเมินมูลค่าหุ้นในแบบต่างๆ กัน เพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น และเข้าซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่ประเมินได้

2. กลุ่ม Technical Analysis หรือกลุ่มเด็กเทคนิค นักลงทุนในกลุ่มนี้จะเข้าทำการซื้อขายหุ้นโดยการวิเคราะห์จากกราฟราคาและ Indicators ต่างๆ มักจะมีระบบการเข้าซื้อขายที่กำหนดจากเงื่อนไขเฉพาะ เช่น เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นทำ New High ซื้อเมื่อ MACD ตัด 0 เป็นต้น

3. กลุ่ม... เม่า นักลงทุนกลุ่มนี้จะเข้าซื้อขายหุ้นตามข่าวสารแรงเชียร์จากสื่อต่างๆ ใครบอกว่าหุ้นนี้ดีหุ้นนี้เด็ด กำลังเป็นข่าว ก็จะแห่ไปซื้อกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยุคปัจจุบันเม่าสามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างฉับไว และข่าวลือต่างๆ ก็ไปไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง จึงทำให้กลุ่มนักลงทุนเหล่านี้มักจะได้ฉายาว่า "เม่าน้อยบนดอยสูง" =..=!

ในบทความชิ้นก่อนๆ ได้กล่าวถึง Technical Analysis และยกตัวอย่างไปบ้างพอสมควร ครั้งนี้ลองมาดูการวิเคราะห์แบบ Fundamental กันบ้างว่าจะยากง่ายกันซักแค่ไหนนะครับ

Fundamental Analysis มักจะเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ตั้งแต่เศรษฐกิจโลก มาระดับภูมิภาค จนถึงระดับประเทศ และเจาะลึกเข้าไปถึงรายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต จึงค่อยมาดูในระดับบริษัท ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว สหภาพยุโรปถังแตกจนต้องปรับลดงบประมาณลง ทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบส่งออกไปยุโรปได้น้อยลง บริษัทที่พึ่งพาการส่งสินค้าไปยุโรปจึงมียอดขายลด กำไรก็ลดลง ไม่ช้านาน หุ้นก็จะตก


ลองดูอีกตัวอย่างนึงนะครับ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ในอนาคตจะมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงาน เงินทุน สินค้าและบริการกันอย่างเสรีภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางที่ง่ายและสะดวกขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์สามารถเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มีชื่อเสียงในบ้านเรามากขึ้น นักลงทุนมองเห็นโอกาสในการเติบโตในอนาคตอันใกล้ (สองสามปี) จึงทยอยสะสมหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ตั้งแต่ตอนที่ราคายังไม่สูง และพร้อมที่จะขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นถึงมูลค่าที่ประเมินไว้แล้ว เป็นต้น



อย่างไรก็ตาม การประเมินสภาพเศรษฐกิจดังกล่าว ก็ให้ข้อมูลเพียงแค่ว่า เราควรจะเข้าไปลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมไหนเท่านั้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทที่เราจะลงทุน มันถูกหรือว่าแพงเกินไปแล้วต่างหาก

นี่จึงเป็นที่มาของการวิเคราะห์มูลค่าหุ้นที่แท้จริง ซึ่งก็มีหลากหลายแนวความคิดแตกต่างกันไป เช่น การหามูลค่าหุ้นจาก Cash Flow บ้าง ดูจากการเติบโตของ Earning บ้าง หรือดูจากการจ่ายเงินปันผลบ้าง ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังคือ การหามูลค่าหุ้นแต่ละวิธีก็เหมาะกับกิจการแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ถ้าดูที่ Cash Flow ก็ควรจะหาหุ้นที่มีการหมุนเวียนของเงินทุนอย่างสม่ำเสมอ หากดูที่ Earning ก็ให้ดูย้อนหลังไปว่ามีการเติบโตของรายได้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร หากใช้วิธีวัดมูลค่าจากเงินปันผล ก็ต้องดูว่ามีการจ่ายเงินปันผลเป็นประจำทุกๆ ปี (ไม่ใช่เดี๋ยวจ่ายเดี๋ยวไม่จ่าย)

ทั้งนี้ ในแต่ละวิธีก็มีสูตรในการคำนวณออกมาเป็นตัวเลข และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น Discounted Cash Flow, Benjamin Graham's Formula, Gordon Dividend Growth Model เป็นต้น

เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ผมจึงนำสูตรต่างๆ มาใส่ในไฟล์ Excel และดึงข้อมูลที่จำเป็นมาจากโปรแกรม eFinance ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีให้บริการฟรีจากบริษัทหลักทรัพย์ทั่วๆ ไป หรือจะดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติมก็ได้

(ต้องขอปิดชื่อหุ้นนะครับ ช่วงนี้กลต.ดุเหลือเกิน อิอิ)


เมื่อได้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตามสูตรต่างๆ ออกมาแล้ว เราก็นำไปเปรียบเทียบดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันมีมูลค่าต่ำกว่าราคาหุ้นที่ประเมินได้หรือไม่ หากราคายังไม่ถึงมูลค่า ก็เข้าซื้อสะสม หากราคาเข้าใกล้มูลค่าที่แท้จริง ก็ทยอยขายทำกำไร

ข้อควรระวังก็คือ ราคาหุ้นจะขึ้นจะลงตาม Demand/Supply ซึ่งบ่อยครั้งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าที่แท้จริง จึงเป็นไปได้มากที่เมื่อซื้อหุ้นสะสมแล้วราคาไม่ไปไหนซักทีจนเราทนไม่ไหวขายขาดทุนออกมาก่อนแล้วมันก็ค่อยวิ่งติดจรวดก็เป็นได้ (กรณีนั้นก็แล้วแต่ความอดทนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนนะครับ) หรือบางที ราคาหุ้นแพงเกินกว่ามูลค่าไปมากแล้ว แต่ราคาก็ยังวิ่งขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าราคาหุ้นมันจะต้องขึ้นไปมากกว่านี้อีก (โดยไม่สนใจในมูลค่าที่แท้จริง) ก็มีความเป็นไปได้อีกเหมือนกัน

นอกจากนี้ การคาดการณ์ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการประมาณการรายได้ EPS หรือเงินปันผล ล้วนแล้วแต่มีความไม่แน่นอนทั้งสิ้น เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าอนาคตข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ดีไม่ดีอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างเช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ ปัญหาการเมือง ซึ่งส่งผลกับราคาหุ้นของเราก็เป็นได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้ว ให้ระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็ย่อมมีความเสี่ยงตามมาด้วยเสมอ ให้วางแผนการลงทุนให้รอบคอบ บริหารความเสี่ยง มีแผนในการซื้อ/ขาย และทำตามระบบ และขอให้สติจงมีแก่นักลงทุนทุกท่านนะครับ

หมายเหตุ: ไฟล์ Excel และ eFinance Template มีแจกให้ฟรีสำหรับผู้เรียนคอร์ส MetaStock นะคร๊าบ ^^!

No comments:

Post a Comment