Thursday, August 2, 2012

คุยกันวันหยุด


ผู้เขียนมีโอกาสได้รู้จักกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ในตอนนั้นอาจารย์ได้สอนให้ผู้เขียนรู้จักถึงการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อาทิเช่น หุ้น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า สิทธิในการซื้อหุ้น รวมไปถึงอนุพันธ์ประเภท Option อาจารย์ได้อธิบายถึงวิธีการเลือกหุ้นโดยดูจากข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น ผลการดำเนินงาน ผลกำไรขาดทุน อัตราส่วนทางบัญชีต่างๆ หลังจากนั้นก็ได้อธิบายถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกจุดซื้อจุดขาย ได้แก่ กราฟราคา เส้นค่าเฉลี่ย เทคนิค Golden cross / Dead cross ซึ่งผู้เขียนมีความประทับใจเป็นอย่างมาก

แต่ทว่า การเข้าถึงข้อมูลหุ้นรวมถึงกราฟราคาและการวิเคราะห์ทางเทคนิคในสมัยนั้นยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยข้อจำกัดของเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบการส่งข้อมูลที่เพิ่งเริ่มพัฒนา (สมัยนั้นเพิ่งมีอินเตอร์เน็ต การใช้งานก็จะต้องผ่านโมเด็ม ร้านอินเตอร์เน็ตจะแพร่หลายมากตามบริเวณสถานศึกษา โดยคิดค่าเล่นอินเตอร์เน็ตชั่วโมงละ 60 บาท... ห้ามว่าผู้เขียนแก่นะ - -! ) ดังนี้ การเข้าถึงข้อมูลหุ้น ก็จะใช้หนังสือพิมพ์ธุรกิจเป็นหลัก ส่วนเรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ลืมไปได้เลย เพราะต้องไปดูที่ห้องค้าหลักทรัพย์เท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนพับความสนใจในเรื่องหุ้นเก็บใส่กระเป๋าไปก่อน

กาลเวลาผ่านไปจนล่วงมาถึงปี 2011 ภรรยาของผู้เขียนอยากเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค แต่เธอไม่สามารถไปเรียนได้ เพราะต้องไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท จึงส่งผู้เขียนไปเรียนแทน (เพราะจ่ายเงินค่าคอร์สไปแล้ว) กลายเป็นว่า การไปเรียนครั้งนั้น ได้สะกิดความอยากรู้อยากเห็นของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนเริ่มกลับมาศึกษาหาความรู้ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ตอนที่เรียนคอร์สนั้น อาจารย์ผู้สอนได้แนะนำให้รู้จักกับโปรแกรมการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคที่ชื่อว่า APEX ผู้เขียนชื่นชอบมาก เนื่องจากวาดกราฟ เปลี่ยนสี ตกแต่งโน่นนี่ได้ดั่งใจ เสียอย่างเดียว ต้องจ่ายเงินซื้อโปรแกรมรายปีเป็นเงินค่อนข้างสูง (สำหรับผู้เขียน) ซึ่งโดยส่วนตัว ผู้เขียนเป็นคนที่ใช้เงินเป็น (ชาวบ้านเรียกว่า “งก”) ผู้เขียนเลยลองกูเกิ้ลดู ก็พบว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ตเร็วขึ้น การเข้าถึงข้อมูลก็ง่ายขึ้น โปรแกรมสำหรับการวิเคราะห์ต่างๆ ก็มีมากขึ้นและใช้งานได้สะดวกสบายตามมาด้วย ตัวแรกที่ผู้เขียนสนใจก็คือโปรแกรม eFinance โดยต้องใช้งานผ่านเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์ ตัวนี้ผู้เขียนชอบมาก เนื่องจากให้ข้อมูลได้หลากหลาย ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน และการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่ eFinance มักจะทำให้ผู้เขียนหงุดหงิดบ่อยๆ เวลาที่ลากเส้นกราฟต่างๆ ซึ่งมักจะเบี้ยวไป เด้งมาก ตั้งค่าก็ไม่ค่อยตรง เป็นต้น ผู้เขียนเลยหาโปรแกรมอื่นดูบ้าง ก็มาพบตัว MetaStock ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีประวัติศาสตร์การพัฒนามาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยที่ PC ยังใช้ DOS เป็นระบบปฏิบัติการ จนมาถึง Version 11 ที่ใช้งานบน Windows แล้ว

ในทางการวิเคราะห์ทางเทคนิค ผู้เขียนชื่นชอบ MetaStock มากที่สุด เพราะนอกจากการใช้งานกราฟที่คล่องตัว มีความหลากหลาย มี Indicator ให้ใช้งานเยอะ ปรับแต่งได้ตามสมควร ยังมี Power tools ให้เราใช้ในการ Scan หาหุ้น จากนั้นก็นำหุ้นตัวนั้นมาวิเคราะห์ และเรายังสามารถทำการทดสอบย้อนหลัง (Back testing) ได้อย่างง่ายๆ อีกด้วย โดยค่าตัวของ MetaStock อยู่ที่ $499 สำหรับการใช้งานข้อมูลแบบ End of Day (EOD) และ $1600 สำหรับการใช้งานแบบ Online แต่ที่สำคัญ เราสามารถหาโปรแกรมมาใช้ได้โดยการปรึกษากูเกิ้ล และเราก็สามารถดึงข้อมูลมาได้จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการข้อมูล Online หรือจะใช้บริการ data feed จากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการได้ในราคาไม่แพง ผู้เขียนเห็นว่า เพียงแค่เรารู้วิธีการใช้และสั่งงานโปรแกรม MetaStock ก็จะสามารถช่วยให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิคได้ง่าย สะดวกสบาย และลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้น ผู้เขียนจะทยอย เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรม MetaStock รวมถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายๆ กรณี ลงใน Blog นี้เรื่อยๆ โดยหวังใจว่า จะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างตามสมควรนะครับ

No comments:

Post a Comment