Wednesday, August 8, 2012

ว่าด้วยเรื่องกราฟราคา

ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือกราฟราคาซึ่งก็มีหลายรูปแบบ ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่นกราฟแท่งเทียน กราฟเส้น นอกจากนี้ก็ยังมีกราฟหน้าตาแปลกๆ ที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนักเช่น Renko, Point and Figure, Three Line Break เป็นต้น เราลองมาดูกันเลยนะครับว่ากราฟแต่ละอย่างมีหน้าตาอย่างไรบ้าง

Line

กราฟที่ง่ายที่สุดก็คือกราฟเส้น โดยการ Plot กราฟชนิดนี้ เราจะนำราคาปิดมาลากต่อจุดกันจนเห็นเป็นเส้นนั่นเอง 




Bars Chart

กราฟชนิดนี้อาศัยข้อมูล 4 ชนิดด้วยกันคือ ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด โดยที่ความยาวของแท่ง แสดงถึงช่วงราคาสูงสุดต่ำสุดของวัน ขีดทางซ้ายหมายถึงราคาเปิด ส่วนขีดทางขวาก็จะหมายถึงราคาปิด






Candlesticks

กราฟแท่งเทียนมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นราวๆ ศตวรรษที่ 18 โดยนักค้าข้าวชื่อว่า มูเนฮิสะ ฮอนมะ และแพร่หลายในโลกฝั่งตะวันตกโดยหนังสือชื่อ Japanese Candlestick Charting Techniques โดย Steve Nison

ว่ากันว่ากราฟแท่งเทียน เป็นกราฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และมีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Hammer, Three white knights, Doji, Hirami, Hangman และอื่นๆ อีกมากมาย ข้อมูลที่จะนำมาใช้สำหรับสร้างกราฟแท่งเทียนคือราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด 

กราฟแท่งเทียนมีส่วนประกอบสองส่วนหลักคือ ไส้เทียนและตัวแท่งเทียน ไส้เทียน (ขีดบน/ล่าง) บอกถึงราคาสูงสุด/ต่ำสุดของวันนั้นๆ ส่วนตัวแท่งเทียน บอกถึงราคาเปิดและราคาปิด 

ในโปรแกรม eFinance แท่งเทียน จะเป็นแท่งทึบ และแทนค่าเมื่อราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด (หุ้นขึ้น) ด้วยแท่งสีเขียว และจะแทนค่าเมื่อหุ้นลงด้วยแท่งเทียนสีแดง แต่ในโปรแกรม MetaStock จะต่างออกไปคือ แทนค่าเมื่อหุ้นขึ้น "ในวันนั้น" ด้วยแท่งโปร่ง และแทนค่าเมื่อหุ้นตก "ในวันนั้น" ด้วยแท่งเทียนทึบ และจะเปรียบเทียบกับราคาปิดของวันก่อนหน้า ถ้าราคาของแท่งเทียนปัจจุบันสูงกว่าราคาก่อนหน้า แท่งเทียนจะเป็นสีเขียว และกลับกัน ถ้าแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาก่อนหน้า แท่งเทียนจะเป็นสีแดง ส่วน Pattern ต่างๆ ของแท่งเทียนนั้น จะขอยกไว้กล่าวในโอกาสต่อไป


Candlevolume

กราฟแบบ Candlevolume เป็นกราฟที่นำลักษณะของแท่งเทียนมาใช้ และเพิ่มข้อมูลปริมาณการซื้อขายเข้าไป ดังจะเห็นได้จากกราฟ ที่มีลักษณะเป็นแท่งเทียน โดยในแต่ละแท่ง มีขนาดความกว้างไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขาย ถ้ามีปริมาณการซื้อขายมาก แท่งเทียนจะกว้าง ถ้าปริมาณการซื้อขายน้อย แท่งเทียนก็จะผอมๆ ลีบๆ




Equivolume

ผมเชื่อว่า หลายๆ ท่านอาจจะไม่เคยเห็นกราฟชนิดนี้แน่ๆ :P กราฟแบบ Equivolume จะใช้ข้อมูลเพียงสามชนิด คือ ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด และ ปริมาณการซื้อขาย หน้าตาของกราฟจะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม โดยมีราคาสูงสุดอยู่ด้านบน ราคาต่ำสุดอยู่ด้านล่าง ส่วนปริมาณการซื้อขายจะเป็นตัวบ่งบอกความกว้างของแท่ง Equivolume แต่ละแท่ง โดยแท่ง Equivolume สีเขียว จะบอกว่าราคาปิดในแท่งปัจจุบันสูงกว่าแท่งก่อนหน้า (หุ้นขึ้น) ส่วนสีแดงก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามคือ ราคาปิดในแท่งปัจจุบันต่ำกว่าแท่งก่อนหน้า (หุ้นลง)



Point and Figures

ในกราฟชนิดนี้ สัญลักษณ์ O แทนว่าราคาหุ้นสูงขึ้น ส่วนสัญลักษณ์ X หมายถึงราคาหุ้นนั้นตกลง โดยจะต้องกำหนดค่าการเปลี่ยนแปลงของราคาไว้ เช่น 0.50 บาท เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 0.50 บาท เราก็จะเพิ่ม O ลงไปในกราฟ และจะเพิ่ม O ไปเรื่อยๆ ในคอลัมน์เดิม ทุกๆ การเพิ่มขึ้นทีละ 0.50 บาท เมื่อหุ้นตกลงมา 0.50 บาท เราก็จะเพิ่ม X เข้าไปแทนในคอลัมน์ใหม่ ดังนั้น กราฟชนิดนี้ จะอิงอยู่กับแค่ราคาหุ้นเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงเวลาแต่อย่างใด


Kagi

Kagi อ่านว่า "คาหงิ" มาจากญี่ปุ่น หมายถึงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในงานพิมพ์ด้วยบล๊อกไม้ ไม่ได้อ่านว่า "คากิ" (บาทาสุกร) นะครับ

กราฟชนิดนี้ประกอบไปด้วยเส้นทึบเรียกว่าหยาง หมายถึงราคาหุ้นเพิ่มขึ้น (สีเขียว) และเส้นบางเรียกว่าหยินหมายถึงราคาหุ้นลดลง (สีแดง) โดยจะคำนึงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของราคาในระดับที่กำหนดไว้ (เช่น 0.50 บาท) เท่านั้น




Three Line Break

กราฟชนิดนี้ถูกคิดค้นขึ้นในญี่ปุ่น โดยที่จะคำนึงถึงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น จึงค่อนข้างคล้ายกับ Point and Figure แต่จะแสดงผลเป็นแท่งสีเขียวแทนราคาเปลี่ยนแปลงขึ้น และสีแดง คือราคาลดลง การเปลี่ยนแนวโน้มมีเงื่อนไขคือ ถ้าราคาปิดสูงกว่าราคาสูงสุดของสองแท่งก่อนหน้านั้นจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น หากราคาปิดต่ำกว่าราคาต่ำสุดของสองแท่งก่อนหน้า ก็จะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง จึงเป็นที่มาของคำว่า Three Line Break นั่นเอง (แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็น Three Sticks Break มากกว่านะครับ)



Renko

Renko ก็ถูกคิดค้นขึ้นมาจากประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน และก็ได้รับการเผยแพร่ให้รู้จักกันอย่างมากในโลกฝั่งตะวันตกโดยนาย Steve Nison เจ้าเก่าผู้เผยแพร่ Candle Sticks ให้โด่งดังไปทั่วนั่นเอง

Renko มาจากคำว่า Renga เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ก้อนอิฐ กราฟชนิดนี้จะคำนึงถึงราคาเพียงอย่างเดียว โดยดูการเปลี่ยนแปลงของราคาในระดับที่กำหนด เช่น 1 บาท เมื่อราคาเพิ่มขึ้น 1 บาท ก็จะเพิ่มก้อนอิฐสี่เหลี่ยมสีเขียวเข้าไปอีก 1 ก้อน หากราคาลดลงถึง 1 บาท ก็จะเพิ่มก้อนอิฐสีแดงเข้าไป 1 ก้อนเช่นกัน

เนื่องจากการเพิ่มขึ้น/ลดลงของราคามีค่าเท่ากัน และ Renko สามารถขจัดการเหวี่ยงตัวของราคาได้ดี จึงทำให้การมองแนวโน้มในกราฟชนิดนี้ค่อนข้างง่าย และเห็นแนวโน้มชัดมาก แต่ก็มีข้อควรระวังคือ เนื่องจาก Renko ไม่ได้สนใจเรื่องระยะเวลา ดังนั้นช่วง Side way กราฟ Renko ก็มักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นระยะเวลานานจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของราคาถึงระดับที่กำหนดไว้ 

หลังจากที่เราทราบถึงชนิดต่างๆ ของกราฟกันแล้ว การจะเลือกใช้กราฟชนิดไหน ก็ขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนแต่ละท่าน ที่จะศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด ข้อดี ข้อเสียของกราฟแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการนำกราฟนั้นๆ ไปใช้ในการ Trade จริงๆ นอกจากนี้ ในแต่ละโปรแกรม ก็อาจจะมีการแสดงผลกราฟที่แตกต่างกัน ดังที่ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกราฟ Candle Stick ของโปรแกรม eFinance และ MetaStock แล้วเป็นต้น

ขอสติจงมีอยู่กับนักลงทุนทุกท่านครับ

No comments:

Post a Comment